Saturday, July 26, 2008

ปลูกรักที่อัมพวา

ถ้าเอ่ยชื่อ อัมพวา หลายๆคนต้องนึกถึงตลาดน้ำ กับ หิ่งห้อยเป็นแน่แท้ สำหรับฉันก็เหมือนกัน ได้ยินชื่อมานานแสนนาน แต่ก็ยังไม่มีโอกาสได้ไปซะที

วันนี้มีที่บริษัทมีกิจกรรมปลูกรัก คราวนี้ไปกันที่ ดอนหอยหลอด อัมพวา แล้วก็อุทยาน ร.2 เป็นโครงการวันเดียวเที่ยวด้วยกัน ด้วยราคามิตรภาพ 300 บาท แล้วงานนี้ฉันจะพลาดได้อย่างไร

กำหนดการคือวันที่ 26/07/08 รถออกหน้าบริษัทเวลา 8 โมงเช้า ไปด้วยรถบัส 2 คันใหญ่ การเดินทางครั้งนี้มีคุณไกด์ชื่อ หน่อง เป็นผู้นำทัวร์สำหรับรถคันที่ 1 ตลอดทาง ไกด์หน่องก็จะอธิบายกำหนดการคร่าวๆของการเดินทางวันนี้ ประกอบกับประวัติเล็กๆน้อยๆของแต่ละสถานที่ สลับกับเล่นเกมส์บนรถ

ใช้เวลาเดินทางประมาณ ชั่วโมงเศษๆก็มาถึง ดอนหอยหลอด ที่นี่เหมาะสำหรับการมาหาของทะเลกินมากๆ เห็นกุ้ง ปู หอยหลอด แล้วอยากซื้อมานั่งกิน ปูเสื่อมันแถวๆริมชายเลนตรงนั้นซะจริง

เพียงแต่ว่า เขาให้เวลาที่นี่ประมาณ 45 นาทีเท่านั้น ตอนอยู่บนรถ ไกด์หน่องได้อธิบาย วิธีการจับหอยหลอดว่า ต้องใช้ปูนขาว หยอดลงรู แล้วหอยจะกระโดดขึ้นมาให้จับเอง แต่ว่าตอนไปถึงเนี่ยซิ ไม่เห็นอะไรเลย เพราะน้ำขึ้นมาซะสูง ไปเวลานั้น น้ำขึ้นเลยไม่ได้เห็นวิธีการจับหอยหลอดกัน

ก็ได้แต่ชิมหอยหลอด เอามาเสียบไม้ ไม้ละ 10 บาท มีประมาณ 4 ตัว เรียกว่าหอยฮานามิ (ไม่รู้เหมือนกันว่ามาจากอะไร) แล้วก็ชิม ลูกจากลอยแก้ว ซื้อกะปิเคยมาด้วย ลองชิมดูแล้วก็ ok ไม่เค็มมาก ส่วนอาหารทะเลนั้น วันหลัง ค่อยชวนเพื่อนๆขับรถมากินแล้วกัน

ใกล้ๆกันนั้น จะมี ศาลพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ก็เข้าไปทำการสักการะท่านด้วย ไหนๆก็มาถึงที่นี่แล้วนิ

ภายในศาลพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์


ทหารรักษาพระองค์

:
ออกเดินทางกันต่อ โปรแกรมต่อไป จะไปอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือ อุทยาน ร2

ภายในอุทยานจะมีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จัดแสดงอยู่ในอาคารทรงไทย แบ่งเป็นห้องต่างๆ ภายในจัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ของที่ฉันเห็นก็จะมี กระดานชนวน หีบเหล็ก เครื่องอัดผ้า ตัวโขนเรื่องรามเกียรติ์ เครื่องดนตรี

เห็นว่ามีโรงละครกลางแจ้งด้วย แต่วันที่ไป ยังไม่เห็นการแสดงใดๆ เห็นแต่มีการฝึกซ้อมการเล่นโขน ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กๆที่มาซ้อม แบ่งเป็นกลุ่มๆ


เด็กๆคอยต้อนรับอยู่ค่ะ

ออกจากอุทยาน ร2 ไปไหว้พระที่วัดอัมพวันเจติยาราม วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 พระอุโบสถเป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่โดดเด่นเห็นจะเป็นพระปรางค์สีขาว ภายในอุโบสถแห่งนี้ มีจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามมาก ที่ขึ้นชื่อคือภาพมดผูกคอตาย ที่สะท้อนยุคสมัย IMF แล้วก็ภาพฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเทพ โดยทรงร่วมงานศิลปะภาพจิตรกรรมด้านที่ติดกับทางเข้าอุโบสถ มีทั้งหมด 4 ตำแหน่งด้วยกัน(พระพักตร์,หมวก,กลอง,ต้นไม้)

ภายในอุโบสถ

ส่วนหนึ่งของจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถ

ภาพมดผูกคอตาย

ตำแหน่งที่ 1:พระพักตร์

ตำแหน่งที่ 2,3:หมวกและกลอง

ตำแหน่งที่ 4:ต้นไม้
:
ใกล้เที่ยงแล้ว เราจะไปกินข้าวเที่ยงกันที่ตลาดน้ำอัมพวา แต่วันนี้ไม่รู้เป็นไง มันอิ่มๆอืดๆ แต่เช้าแล้ว มาถึงถิ่นที่ของกินอร่อย แต่กลับกินได้ไม่ค่อยเยอะ เสียดายจัง

บริเวณริมน้ำ จะมีบริการลงเรือเที่ยว หลายบริษัทหลากหลายมาก กลางวันส่วนใหญ่จะล่องเรือไปเที่ยววัดต่างๆ ประมาณ 4 วัด ค่าเรือต่อคนก็ 50 บาท เหมาลำ ก็ประมาณ 600 บาทค่ะ

แต่ถ้ากลางคืน ก็ต้องชมหิ่งห้อย แต่ไม่ว่ากลางวันกลางคืน วันนี้ก็อดทั้งคู่ เพราะทัวร์เราไม่มีเวลามากขนาดนั้น

นอกจากบริการล่องเรือเที่ยวแล้ว ก็มีโฮมสเตย์เปิดจำนวนมากมาย ไว้วันหลัง มาเที่ยวดูหิ่งห้อยกับค้างโฮมสเตย์ ก็น่าจะดี

วันนี้ ได้แต่เดินเที่ยวชมบรรยากาศริมน้ำ ซื้อของฝากซะหน่อย ไกด์หน่องบอกว่า ให้ลองซื้อชิม ขนมกุหลาบชาววัง เพราะหากินยาก เป็นของชาววัง หน้าตาเป็นแบบนี้ค่ะ
ขนมกุหลาบชาววัง

ขนมไทย

ขนมไทยหลากหลาย

ชิมแล้วก็คล้ายๆกับ ขนมอาลัว ค่ะ ส่วนขนมเทียนสลัดงา หน้าตาก็ประมาณนี้ อร่อยดีค่ะ

ขนมเทียนสลัดงา
พวกเราทานอาหารเที่ยงกันที่นี่ แต่ฉันอิ่มอร่อยกับขนมไทยๆและบรรยากาศโดยรอบมากกว่า

ตุ๊กตาดุ๊กดิก ต้องกดที่ฐานข้างใต้ แล้วลำตัวจะหดลงมา

ร้านขายภาพวาด สีน้ำ รับวาดภาพเหมือนด้วย

ขนมไทย package จ๊าบมากค่ะ
:
ออกจากตลาดน้ำ สถานที่สุดท้ายที่จะไปในวันนี้ ก็คือ อุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยาม อุทยานนี้อยู่ที่ อ.บางแพ จ.ราชบุรี

ภายในอุทยาน จะมีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง โดยจะจัดแสดงให้เดินวนรอบๆเริ่มตั้งแต่

อาคารเชิดชูเกียรติ ข้างในจะมีรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งไฟเบอร์กลาส ของบุคคลสำคัญของไทย และต่างประเทศ เช่น
- มล. ปิ่น มาลากุล
- ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
- ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์
- อาจารย์ มนตรี ตราโมท
- สืบ นาคะเสถียร
- แม่ชีเทเรซ่า
- ประธานาธิบดี โฮจิมินห์
- เหมาเจ๋อตุง และ เติ้งเสี่ยวผิง

ตามความเห็นของฉันนะ ฉันว่า หุ่นไฟเบอร์กลาส ยังมีความเหมือนไม่เท่ากับหุ่นขี้ผึ้งค่ะ แต่อย่างว่า หุ่นขี้ผึ้งอาจจะไม่เหมาะกับอากาศร้อนแบบเมืองไทย ไฟเบอร์กลาสก็คงเหมาะสมแล้ว

อีกอย่างเรื่องของการจัดวาง ฉันว่า น่าจะทำทางเดินให้นักท่องเที่ยวเดินโดยไม่สามารถเข้าไปแตะต้องตัวหุ่นได้ เหมือนกับที่ฉันไปดูหุ่นขี้ผึ้งที่เมืองจีน ที่นั่นจะทำการจัดแสดงเป็นห้องๆ แสดงเรื่องราวต่างๆ โดยผู้ชมจะเห็นแต่เพียงภายนอก ไม่สามารถเข้าไปสัมผัส แตะต้องได้ แต่ที่นี่ แม้จะมีคำเตือนต่างๆ แต่ก็ยังมีนักท่องเที่ยว เข้าไปสัมผัสกับหุ่นอยู่ดี

ฉันได้ทำท่าหลายๆอย่าง ถ่ายรูปกับหุ่นบุคคลสำคัญหลายท่าด้วยกัน (อิอิ พอดีมีคนแอ็คท่าอยู่ก่อน ฉันเห็นแล้วก็ว่าเข้าท่าดี) แต่ไม่ได้แตะต้องตัวหุ่นนะ เช่น ท่ามองท่านโฮจิมินห์เขียนหนังสือ ท่ายืนเคียงข้างแม่ชีเทเรซ่า สักการะพระเจ้า ท่ายกน้ำชาเคารพท่าน เหมาเจ๋อตุงกับท่านเติ้งเสี่ยวผิง ก็ได้บรรยากาศอีกแบบ

ท่านโฮจิมินห์

แม่ชีเทเรซ่า

ท่านเหมาเจ๋อตุงกับท่านเติ้งเสี่ยวผิง

ออกจากอาคารเชิดชูเกียรติ ไปลานพระสามสมัย ก็จะมีสมัยอยุธยา สุโขทัย เชียงแสน ต่อไปก็เดินเข้าชมถ้ำชาดก ข้างในมีหุ่นขี้ผึ้งแสดงเรื่องราวของพระเวสสันดร คติธรรมเรื่องการให้ โดยมีตัวชูโรงคือ ชูชก ในถ้ำชาดกนี้จะมี ชูชกอยู่ทุกฉาก เขาปั้นชูชกได้น่าเกลียดจริงๆ (อุ๊บ ขออภัยค่ะ) ยิ่งเห็นตุ่มตามตัวตะปุ่มตะป่ำทั้งตัวด้วยแล้ว




ฉันถ่ายรูปในห้องนี้มาเกือบหมด ยกเว้นรูปสุดท้าย น่ากลัวอ่ะ รูปชูชกท้องแตก โหทำได้น่าสะอิดสะเอียน เลยไม่ได้ถ่ายรูปมา เพราะคิดว่า แม้ถ่ายมาก็คงไม่คิดจะดูหรอก

ออกจากถ้ำชาดก ไปชมกุฏิพระสงฆ์ โดยจะมีแบ่งเป็นภาคๆ ฉันเข้าดูแค่ภาคกลาง ภายในจะมีหุ่นขี้ผึ้งของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ และ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อยู่ ญาโณทัย) วัดสระเกศ กรุงเทพฯ ส่วนภาคอื่นๆ ไม่ได้เข้าไปชม

สุดท้าย ไปดูบ้านไทยสี่ภาค ไปเดินดูชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยสมัยก่อนทั้งสี่ภาค คราวนี้ได้เดินเที่ยวครบทั้งสี่ภาค

ภายในจะมีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ที่สะท้อนถึงวิถีการดำเนินชีวิตของคนแต่ละภาค และก็มีหุ่นไฟเบอร์กลาสจำลองชีวิตคนไทย เช่น พ่อแม่ปู่ย่าตายาย เด็กๆ

ทัวร์วันเดียวจบแล้วค่ะ เสียดายใช้เวลากับแต่ละสถานที่น้อยไปหน่อย ไปวันนี้ อากาศก็ไม่ร้อนมาก มีแดดรวมกับฝนตกปรอยๆทั้งวัน ไว้คราวหน้า ถ้ามีโอกาสอยากมาเอง จะได้ใช้เวลาแต่ละสถานที่ได้นานกว่านี้ค่ะ

0 Comments: