Sunday, April 09, 2006

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก - พิพิธภัณฑ์หินแปลก

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก

วันนี้เบื่อๆอยากออกไปเดินเที่ยว หลังจากอยู่บ้านมาหลายสัปดาห์แล้ว ตอนแรกตั้งใจว่าจะไปตั้งแต่เมื่อวาน แต่เนื่องจากวันก่อนไปเที่ยวงานสัปดาห์หนังสือมา เจ้ารองเท้าใหม่ กัดเท้า lunar ซะแผลผุพอง ทำให้ออกไปไหนไม่ได้

วันนี้ค่อยยังชั่วขึ้นละ ก็เลยว่าวันนี้จะไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกกับพิพิธภัณฑ์หินแปลก ดีกว่า เห็นว่าอยู่ใกล้ๆกันแถวเจริญกรุง ก็ไปซะทีเดียว จริงๆตั้งใจอยากไปนานละ แต่ไม่แน่ใจว่าอยู่ตรงไหน เมื่อคืนวันศุกร์นั่งท่อง web แล้วก็มี web แนะนำที่นี่อีกครั้ง ก็เลยทำให้อยากไป

จริงๆหาไม่ยากหรอก พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกเนี่ยอยู่ ถ.เจริญกรุง 43 ตรงข้ามกับไปรษณีย์กลาง บางรัก แล้วเดินเข้าซอยไปประมาณ 300 เมตร อยู่ตรงขวามือ แต่พอเห็นประตูทางเข้าตอนแรกก็แปลกใจ ทำไมน่ะเหรอ ก็ประตูปิดนะซิ
เอ.. หรือว่าวันนี้ปิด เดินไปใกล้ๆ มีป้ายบอกว่า ต้องการเข้าชม ให้กดกริ่ง อ้อ..งั้นเหรอ ลองกดกริ่ง ก็ได้ยินเสียงทักทายต้อนรับ .. โฮ่ง โฮ่ง...

สัมผัสแรกที่ได้เข้ามาในบริเวณพิพิธภัณฑ์ ร่มรื่นแหะ มีเจ้าหน้าที่(แต่งเครื่องแบบตำรวจ)นั่งอยู่ ให้ลงนามในสมุดเยี่ยมชม ดูๆแล้ววันนี้ lunar มาเป็นคนที่ 2 เอง

มีเจ้าหน้าที่พาเยี่ยมชมด้วยนะ เป็นน้องสาวที่น่ารัก ชื่อน้องบี

หน้าอาคารหลังแรกที่จะเข้าไปชม มีข้อมูลให้นักท่องเที่ยวอ่าน (lunar นั่งคัดลอกตั้งนานแนะ อุ๊บ แหะแหะ จริงๆแล้ว ถ่ายรูปมาแล้วมาพิมพ์เอาที่บ้านนะ )
==========================================================
พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก เป็นพิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นตามวัตถุประสงค์ และความตั้งใจของอาจารย์วราพร สุรวดี ผู้เป็นเจ้าของโดยใช้บ้านและทรัพย์สินที่ได้รับมรดกจากมารดา (นางสอาง สุรวดี ตันบุนเต็ก) เป็นอาคารและวัตถุในการจัดแสดง จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับสภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบางกอก ฐานะปานกลางในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่าง พุทธศักราช 2480-2500 ย้อนอดีตไปเมื่อประมาณสี่สิบกว่าปีมาแล้ว อาคารและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆที่จัดแสดงนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นตัวอย่างที่สะท้อนภาพชีวิต สังคม ของคนไทยในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ประกอบด้วยอาคารจัดแสดง 3 หลัง บนพื้นที่ประมาณ 1 ไร่เศษ ดังนี้

อาคารหลังแรก เป็นอาคารที่ครอบครัวสุรวดีเคยใช้อยู่อาศัยแต่เดิมในอดีต โดยมารดาของอาจารย์วราพร สุรวดี สร้างขึ้นในปีพุทธศักราช 2480 ลักษณะอาคารเป็นสถาปัตยกรรมที่รับอิทธิพลตะวันตก ซึ่งเป็นที่นิยมในยุคนั้นเป็นอาคารไม้สองชั้น หลังคาเป็นทรงปั้นหยามุงกระเบื้องว่าวสีแดง ผนังอาคารสร้างด้วยไม้ทาสีเลียนแบบผนัง ก่ออิฐถือปูนโดยใช้ช่างชาวจีนเป็นช่างก่อสร้าง ใช้งบประมาณในการก่อสร้างเป็นเงินประมาณ 2,400 บาท และต่อมาได้มีการก่อสร้างต่อเติมภายหลังอีกในปีพุทธศักราช 2503

อาคารหลังที่สอง แต่เดิมสร้างอยู่บริเวณทุ่งมหาเมฆ เป็นอาคารไม้สองชั้นมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมใกล้เคียงกับอาคารหลังแรก สร้างขึ้นในปีพุทธศักราช 2472 โดยในตอนแรกนั้น นายแพทย์ฟรานซิส คริสเตียน (สามีคนแรกของนางสอาง สุรวดี) ตั้งใจจะทำเป็นคลินิกรักษาคนไข้ บริเวณชั้นล่าง ส่วนชั้นบนใช้เป็นที่พักอาศัย ครั้นสร้างเสร็จยังมิทันเข้าอยู่ นายแพทย์ฟรานซิส ก็ป่วยและเสียชีวิตลงเสียก่อน บ้านหลังนี้จึงทำเป็นบ้านให้เช่าเรื่อยมา จนกระทั่งอาจารย์วราพร มีดำริจะทำพิพิธภัณฑ์ จึงให้รื้อบ้านหลังนี้และย้ายมาสร้างรวมบนพื้นที่เดียวกัน แต่ย่อส่วนให้มีขนาดเล็กลง เพื่อให้เป็นอาคารจัดแสดงประวัติคุณหมอฟรานซิส และเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงคุณหมอผู้ล่วงลับ

อาคารหลังที่สาม เดิมเป็นตึกแถว จำนวน 8 ห้อง ซึ่งมารดาของอาจารย์วราพร สุรวดี ปลูกไว้ให้เช่า ต่อมาอาจารย์วราพรได้ยกเลิกสัญญาเช่า และปรับปรุงอาคารใหม่เพื่อให้เป็นอาคารจัดแสดงพิพิธภัณฑ์อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งใช้จัดแสดงเครื่องใช้ไม้สอย และของจิปาถะ ของชาวบางกอกในอดีต

======================================================
lunar เอามาให้อ่านจะได้ทราบความเป็นไปเป็นมาก่อนเข้าเยี่ยมชม (เผื่อใครอยากจะไปเที่ยวบ้าง) OK หลังจากรู้เรื่องราวคร่าวๆล่ะ เริ่มเลยล่ะกัน

อาคารหลังแรก

เริ่มจากชั้นล่าง

เครื่องเล่นแผ่นเสียง

โคมไฟ ที่สามารถปรับความยาวสายไฟขึ้นลงได้

เปียนโนงาช้าง

เปียนโนนี้ ยังใช้งานได้อยู่ มีความเชื่อว่า ถ้าใครไม่สบายหรือเจ็บไข้ได้ป่วย ให้มาเล่นเปียนโนงาช้างก็จะหาย เนื่องจากสามารถดูดพิษได้

การต่อกระจกที่แตก

อันนี้เป็นภูมิปัญญาของไทย แสดงให้เห็นถึงการต่อกระจกที่แตก โดยใช้เหรียญทำการขึงด้วยลวด เห็นแล้วอึ้งอ่ะ (ไม่เคยเห็น)

ภาชนะเก็บความเย็น

lunar ลืมชื่อเจ้าภาชนะนี้ไปแล้วอ่ะ

โต๊ะอาหารนี้มีความพิเศษตรงที่เป็นโต๊ะรุ่นแรกๆที่มีล้อเลื่อนและตัวโต๊ะประกอบไปด้วยส่วนประกอบ 3 ส่วน นั่นหมายความว่า สามารถลดความยาวโต๊ะลงได้โดยนำส่วนประกอบตรงกลางออกไป
สวิตช์ไฟ ยังใช้งานได้

นาฬิกาโบราณ

หน้าต่างที่เปิดได้ 2 แบบ

จะสังเกตุเห็นว่า ในสมัยก่อน เวลาแขวนผ้าม่านจะแขวนแค่ ครึ่งหนึ่งของหน้าต่าง (ไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกัน)
โถส้วมยุคแรก

โถส้วมยุคแรกก่อนจะมาเป็นชักโครกในปัจจุบัน หลังจากใช้แล้ว ก็จะนำมาล้างแล้วกลับไปวางใหม่
เครื่องรีดผ้า

ทางเดินบันไดระหว่างชั้นหนึ่งกับชั้นสอง จะพบเจ้าเครื่องรีดผ้า (จริงๆน่าจะเรียกว่า เครื่องอัดผ้ามากกว่า) เอาผ้าไปวาง แล้วหมุนแกนกลางใช้แรงอัดให้ผ้าเรียบ
เครื่องอัดกลีบ

ขึ้นมาที่ชั้นสอง จะเจอเครื่องนี้เลย เครื่องอัดกลีบ ใช้แรงเสียดสีให้เกิดความร้อน เสียดาย เจ้าหน้าที่ไม่ได้สาธิตให้ดูเนื่องจาก หาอุปกรณ์อีกสองชิ้นไม่เจอ
กระจก 3 บาน

บริเวณชั้นสองนี้ส่วนใหญ่เป็นห้องนอน มีรูปปั้นบริเวณศรีษะถึงหน้าอกของนายแพทย์ฟรานซิส ซึ่งปั้นโดย ศ.ศิลป์ พีระศรี ด้วย
ห้องแต่ละห้องสามารถเดินทะลุถึงกันได้ ออกแบบบ้านได้เก่งจริงๆ

อาคารหลังที่สอง


รูปปั้นนายแพทย์ฟรานซิส

บริเวณชั้นล่างของอาคารหลังที่สอง เป็นคลีนิกไว้รักษาคนไข้ นายแพทย์ฟรานซิสเป็นชาวอินเดีย แต่คนส่วนใหญ่จะเข้าใจผิดนึกว่าเป็นชาวตะวันตก
บริเวณชั้นสอง

บริเวณชั้นสองจะเป็นห้องพักคนไข้ แต่ที่เห็นนี้จะเหมือนห้องนอนมากกว่า เนื่องจากอาคารหลังนี้ย้ายและย่อส่วนมาจากอาคารเดิมที่ทุ่งมหาเมฆ และมีการปรับแต่งห้องใหม่ จึงดูไม่เหมือนเป็นห้องพักคนไข้

อาคารหลังที่สาม
อาคารหลังนี้ส่วนใหญ่จะเก็บพวกข้าวของเครื่องใช้ต่างๆเช่น ห้องครัว อุปกรณ์ทำอาหาร

เครื่องอัดยาเม็ด

นำยาใส่ลงไปในแต่ละช่อง แล้วใช้ก้านไม้เล็กๆใส่ลงไปตรงกึ่งกลาง พอแห้งก็ดึงก้านไม้ออกมา ยาเม็ดก็ติดออกมาด้วย
เครื่องทำไอศกรีม

ผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว

กะลาที่มีรูเล็กๆ ถี่ๆ ใช้เป็นกระชอน ส่วนกะลาที่รูใหญ่ขึ้นมาหน่อย ไม่ถี่มากนัก ใช้ทำลอดช่อง
กระต่ายขูดมะพร้าว

เครื่องชักลม
อึ้งกับเจ้าเครื่องนี้ เหมือนพัดลม lunar ลองดึงคันไม้ที่อยู่ข้างขวา เข้าๆออกๆ มีลมออกมาจริงๆด้วย

ไม่แน่ใจว่าเจ้าเครื่องนี้ จะเป็นเครื่องอัดผ้าเหมือนที่เจอที่เรือนหลังแรกอ่ะเปล่า
จักรเย็บผ้า NEW HOME

จักรเย็บผ้ารุ่นแรกเลยนะเนี่ย
ฉลากต่างๆ



ส่วนหนึ่งของคลอง

เจ้าของบ้านได้อนุรักษ์คลองนี้ไว้ ซึ่งในยุคนั้นบริเวณตรงนี้จะเป็นคลองยาว

หลังจากเดินเที่ยวชมอาคารทั้ง 3 หลังแล้ว วันนี้นอกจากจะไม่ร้อนแล้ว ดูท่าฝนกำลังจะตกอีกด้วย lunar ก็เลยร่ำลา พร้อมกับขอบคุณน้องบี ที่ช่วยอธิบาย ได้ความรู้และข้อมูลต่างๆเยอะเลย พร้อมกับลาเจ้าโบว์ หมาที่ทักทาย lunar ตั้งแต่เข้ามา

** น้องบีเล่าว่า เจ้าโบว์เนี่ย แก่แล้วนะ อายุซัก 10 ปีได้แล้วมั้ง (แต่ lunar เห็นว่ามันยังแข็งแรงอยู่มากเลย) และสาเหตุที่ต้องปิดประตูเนี่ย ก็เพราะเจ้าโบว์ชอบออกไปวิ่งเล่นข้างนอก**

ออกจากพิพิธภัณฑ์ก็บ่ายล่ะ ต้องหาอะไรรองท้องซะหน่อย เย็นตาโฟปากซอย ละกัน นั่งรอก๋วยเตี๋ยว ปรากฏว่าน้องบีก็แวะมากินเหมือนกัน เลยนั่งโต๊ะเดียวกันได้คุยกันต่อ

บีบอกว่า ทำที่นี่ได้ 3 ปีแล้ว ที่มาทำก็เพราะได้ยิน อ.วราพร เล่าให้ฟังและรับสมัครเจ้าหน้าที่ที่จะมาเป็นอธิบายให้นักท่องเที่ยวฟัง ได้พูดคุยกันอีกหลายเรื่อง

lunar บอกว่าจะไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์หินแปลกต่อ รู้ว่าอยู่ไม่ไกลจากที่นี่ ต้องรีบไปล่ะเพราะลมแรง ฝนตกแน่ๆ ร่ำลากันอีกครั้ง

พิพิธภัณฑ์หินแปลก (Rare Stone Museum)

ออกจากร้านก๋วยเตี๋ยวรีบวิ่งข้ามถนนมาหน้าไปรษณีย์กลาง วิ่งตรงไปเรื่อยๆ ฝนเริ่มแรงละ วิ่งไปถึงซ.เจริญกรุง 26 เห็นละ พิพิธภัณฑ์หินแปลก เข้าไปหลบฝนพร้อมกับชมหินแปลกซะเลย
ค่าเข้าชม 50 บาท วันอาทิตย์แบบนี้ ไม่มีใครมาเลยอ่ะ ไม่มีเจ้าหน้าที่มาอธิบาย เขาให้เราเดินเอง
==========================================================
ก่อตั้งในปี พ.ศ.๒๕๔๒ โดยนายบรรยง เลิศนิมิตร ซึ่งเป็นนักสะสม หินแปลก เพื่อให้เกิดการศึกษาและสัมผัสถึงความงดงามของหินธรรมชาติ ภายในพิพิธภัณฑ์ได้เก็บรักษาและสะสม หินแปลก หินหยก ฟอสซิล หินธรรมชาติ หินย้อย เป็นจำนวนมาก หินเหล่านี้ได้มาจากที่ต่างๆทั้งในประเทศไทย และจากที่ต่างๆทั่วโลก หินแปลก อันล้ำค่า ภายในพิพิธภัณฑ์แสดงให้เห็นถึงความสวยงามทั้งรูปลักษณ์และสีสัน ชวนให้เกิดจินตนาการมากมาย เช่น หินรูปเต่า หินรูปนกเพกวินที่กำลังคลอเคลียกัน นอกจากนี้ ภายในยังได้จัดแสดง พิพิธภัณฑ์ที่เขี่ยบุหรี่ ที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของชนชาติต่างๆ เช่น ที่เขี่ยบุหรี่ดินเผาจื่อชาของจีน ที่แต้มแต่งเป็นภาพนก, ภาพดอกไม้ และหญิงงาม ที่เขี่ยบุหรี่ของยุโรป เต็มไปด้วยสีสันโรแมนติกของยุคฟื้นฟูศิลปะวรรณคดี และ ที่เขี่ยบุหรี่ของไทย ที่สลักเป็นภาพจากเทพนิยายโบราณ เป็นต้น

=====================================================

(คัดลอกจากแผ่นป้ายท่องเที่ยว)

การจัดแสดงหินจะมีทั้งหมด 3 ชั้น ไม่น่าเชื่อจริงๆนะ โลกเราจะมีหินแปลกๆจำนวนมากมาย หินหลายๆชิ้นใกล้เคียงกับสถานที่,สิ่งของ, สัตว์ต่างๆแล้วแต่จินตนาการของคนเรา

นกแอ่น

วีนัส

ช่อเห็ดหิมะ

เมฆเห็ดจากระเบิดปรมาณู

กุหลาบหินจากซาอุดิอารเบีย

หินภาคเหนือของไทย

หินฟอสซิลหอยแอมมอไนต์ จากมอรอคโค

ผมขาวสามพันวา

ที่ชั้นสองจะมีลานหินนวดเท้าเพื่อสุขภาพ ลักษณะของหินจะกลมๆมนๆ ต้องถอดรองเท้าแล้วเดินจากฟากหนึ่งไปถึงอีกฟากหนึ่ง
ลานหินนวดเท้าเพื่อสุขภาพ


หินอินโดนีเซีย

กล่องไม้ขีดต่างๆ

ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขอขอบคุณยรรยง ที่มีใจรักในหินแปลก จัดทำพิพิธภัณฑ์นี้ขึ้นมาได้หลายปีแล้ว แต่ไม่ได้กำไรซ้ำยังขาดทุนอีก เนื่องจากสถานที่ตั้งไม่อำนวยในการจอดรถสำหรับนักท่องเที่ยว แต่ lunar ว่าที่สำคัญคือ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวไม่ประชาสัมพันธ์ให้มากพอ และที่สุดแล้ว คนไทยยังไม่เห็นความสำคัญของสิ่งเหล่านี้ น่าเสียดายจัง

lunar อยากให้คนไทยน่าจะลองมาท่องเที่ยวตามสถานท่องเที่ยวแบบนี้บ้าง เชื่อว่ายังมีอีกหลายคนยังไม่เคยไป แม้แต่ได้ยินก็ยังไม่เคย แม้แต่คนกรุงเทพฯ แท้ๆก็ตาม

ร่วมประชาสัมพันธ์ให้ด้วยคนค่ะ

0 Comments: